Learning by Doing หรือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเรียนรู้ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันเพราะการเรียนรู้แบบ Learning by Doing นั้นจะช่วยให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและยังมีความสุขในการเรียนมากกว่าการใช้วิธีการเรียนรู้แบบอื่น ผู้ปกครองคนไหนที่สนใจการเรียนรู้ประเภทนี้แต่ยังสงสัยว่า Learning by Doing คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรและจะช่วยให้ผู้เรียนมีความสุขกว่าการเรียนรู้แบบอื่นจริงหรือไม่ ก็สามารถมาค้นหาคำตอบในบทความนี้ไปพร้อม ๆ กันได้เลย
สารบัญบทความ
- Learning by Doing คืออะไร? ทำความรู้จักกับความหมายของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
- ชวนอ่าน! แนวคิด Learning by Doing ปรัชญาการศึกษารูปแบบใหม่
- ประโยชน์ของ Learning by Doing
- หลักการและกระบวนการของ Learning by Doing
- ตัวอย่างของ Learning by Doing ในชีวิตประจำวัน
- ตัวอย่างของ Learning by Doing ในการศึกษาและการทำงาน
- สำรวจข้อดีและข้อเสียของ Learning by Doing
- การนำหลัก Learning by Doing ไปใช้ของผู้ปกครอง
- สรุป Learning by Doing รูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิต
Learning by Doing คืออะไร? ทำความรู้จักกับความหมายของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
Learning by Doing คือแนวคิดการเรียนการสอนที่เชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ จะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ตลอดจนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกใฝ่เรียนตามไปด้วย โดยการเรียนการสอนแบบ Learning by Doing ผู้สอนหรือครูอาจารย์จะต้องลดการให้ความรู้กับผู้เรียนโดยตรง และเปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ศึกษาหรือค้นคว้าสิ่งที่ผู้เรียนสนใจด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้นและสามารถเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ชวนอ่าน! แนวคิด Learning by Doing ปรัชญาการศึกษารูปแบบใหม่
Learning by Doing เป็นทฤษฎีจากจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) บิดาแห่งการศึกษารูปแบบใหม่ชาวอเมริกันที่มีแนวคิดว่าการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เป็นวิธีการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสมากที่สุดผ่านการเห็น การได้ยิน และการสัมผัส รวมไปถึงทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนอกจากนี้จอห์น ดิวอี้ ยังได้แบ่งประสบการณ์ที่มนุษย์จะได้รับออกเป็นสองประเภท ได้แก่
- ประสบการณ์ปฐมภูมิ หมายถึงประสบการณ์ที่ยังไม่ถือเป็นความรู้ เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการ คิดแบบไตร่ตรองมาก่อน
- ประสบการณ์ทุติยภูมิ หมายถึงประสบการณ์ที่เป็นความรู้ เพราะได้ผ่านกระบวนการคิดแบบไตร่ตรองมาแล้ว โดยอาศัยประสบการณ์แบบปฐมภูมิเป็นรากฐานในการสร้างประสบการณ์ประเภทนี้
การเรียนการสอนแบบ Learning by Doing คือการสอนที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ทุติยภูมิที่ถือเป็นความรู้โดยการให้ผู้เรียนได้ลองลงมือทำ ยกตัวอย่างเช่น หากให้ผู้เรียนได้ทดลองปลูกต้นไม้ ผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้ที่จะลงมือทำรวมไปถึงการสังเกตและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ เป็นต้น
ประโยชน์ของ Learning by Doing
ผู้ปกครองหลายคนอาจจะรู้แล้วว่า Learning by Doing คือการเรียนการสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงสามารถเพิ่มพูนทักษะการไตร่ตรองได้มากขึ้น แต่การเรียนการสอนแบบ Learning by Doing นั้นยังมีประโยชน์อีกหลายด้าน โดยประโยชน์ของการเรียนรู้ด้วยตนเองจะมีอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อม ๆ กันได้เลย
เพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์
การเรียนรู้แบบ Learning by Doing คือรูปแบบการเรียนการสอนที่จะช่วยเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์โดยการให้ผู้เรียนได้ลองสำรวจและค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาจากการประยุกต์ใช้ประสบการณ์จริงที่เคยได้รับ อาทิ การทดลองเทน้ำจากขวดลงมาในแก้ว ในครั้งแรกอาจจะเกิดปัญหาน้ำหกหรือล้นออกจากแก้ว แต่ในครั้งต่อ ๆ จะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เป็นต้น
เพิ่มทักษะด้านอารมณ์และการเข้าสังคม
การเรียนการสอนแบบ Learning by Doing มักจะเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมแบบกลุ่ม ดังนั้นเมื่อผู้เรียนได้มีโอกาสสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นก็มักจะมีทักษะด้านอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่นในการทำงาน นอกจากนี้ผู้เรียนยังจะได้ทักษะด้านการเข้าสังคมเพิ่มเติม อาทิ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือการรับฟังและยอมรับในความแตกต่างด้านความคิดเห็น เป็นต้น
ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
ประโยชน์ด้านร่างกาย เป็นประโยชน์ด้านหนึ่งของการเรียนการสอนแบบ Learning by Doing ที่ผู้ปกครองหลายคนอาจจะนึกไม่ถึง เพราะการให้ผู้เรียนได้ลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ล้วนเป็นการส่งเสริมการทำงานของร่างกาย อาทิ การให้ผู้เรียนได้ทดลองปลูกต้นไม้หรือทดลองร้อยลูกปัดก็จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้ทำงานประสานกันได้ดียิ่งขึ้น หรือการสำรวจธรรมชาติก็จะทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง รวมไปถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด เป็นต้น
หลักการและกระบวนการของ Learning by Doing
Learning by Doing คือรูปแบบการเรียนรู้ที่นอกจากจะใช้กับการเรียนในโรงเรียนได้แล้วก็ยังสามารถปรับใช้กับกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ้านได้ด้วย ซึ่ง จอห์น ดิวอี้ ได้แบ่งกระบวนการของการสร้างองค์ความรู้จากการเรียนการสอนแบบ Learning by Doing ไว้ 4 ขั้นตอน ผู้ปกครองท่านไหนที่สนใจนำกระบวนการของแนวคิดนี้ไปใช้กับกิจกรรมที่บ้านก็สามารถดูรายละเอียดไปพร้อมกันได้เลย
- การสำรวจ โดยเริ่มจากให้ผู้เรียนสำรวจก่อนว่าตนเองมีความชอบหรือความสนใจในกิจกรรมแบบไหน รวมไปถึงเริ่มฝึกสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวว่ามีลักษณะอย่างไรและเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
- การทดลอง เป็นขั้นตอนต่อมาหลังจากที่ผู้เรียนได้ลองสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยผู้ปกครองสามารถให้ผู้เรียนต่อยอดและทดลองทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสามารถแก้ไขปัญหาจากความผิดพลาดได้
- การเรียนรู้จากการปฏิบัติ เป็นการสร้างองค์ความรู้จากการสำรวจและการทดลองโดยการลงมือปฏิบัติจริง ในกระบวนการนี้ผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะการตัดสินใจ ทักษะการคิดวิเคราะห์รวมไปถึงยังได้เรียนรู้ที่จะนำทฤษฎีไปประยุกต์ในชีวิตจริงอีกด้วย
- การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ กระบวนการนี้เป็นการนำทักษะจากทุก ๆ กระบวนการมาต่อยอด โดยการให้ผู้เรียนได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการบูรณาการสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง
ตัวอย่างของ Learning by Doing ในชีวิตประจำวัน
ผู้ปกครองคนไหนที่สนใจจะนำการเรียนการสอนแบบ Learning by Doing ไปใช้ที่บ้านแต่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปบูรณาการกับกิจกรรมแบบไหนดี วันนี้เราได้รวบรวมไอเดียกิจกรรมแบบ Learning by Doing ในชีวิตประจำวันมาฝากกัน โดยตัวอย่างของ Learning by Doing ในชีวิตประจำวัน มีดังต่อไปนี้
- การทำขนมหรือเบเกอรี่ เพราะการฝึกทำขนมหรือเบเกอรี่นอกจากจะได้ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการนวดหรือปั้นแป้งแล้ว ก็ยังเป็นการฝึกการเรียนรู้เกี่ยวกับสี รูปร่าง กลิ่นรวมไปถึงเนื้อสัมผัสแบบต่าง ๆ ได้ เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างครบถ้วน
- การฝึกปั่นจักรยาน เป็นการฝึก Learning by Doing ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกความพยายาม เพิ่มทักษะการลงมือทำและการเรียนรู้ที่จะนำข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดในอดีตมาแก้ไขและพัฒนาตนเอง
- การปลูกพืชผักสวนครัว เป็นกิจกรรมที่นอกจากจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้วก็ยังเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมความอดทน ความใจเย็นและยังช่วยฝึกทักษะการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของพืชผักต่าง ๆ ได้อีกด้วย
- การทดลองทำของเล่นอย่างสไลม์ (Slime) ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำแป้งข้าวโพดผสมกับน้ำ โดยสไลม์เป็นของเล่นที่มักลักษณะเป็นได้ทั้งของแข็งและของเหลว ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงจะช่วยผู้เรียนเกิดความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้
ตัวอย่างของ Learning by Doing ในการศึกษาและการทำงาน
การเรียนรู้แบบ Learning by Doing นั้นนอกจากจะสามารถใช้ที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้แล้วก็ยังสามารถปรับใช้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือการทำงานได้อีกด้วย โดยตัวอย่างของ Learning by Doing ในการศึกษาและการทำงานมีดังต่อไปนี้
- การลองเป็นเจ้าภาพงานในงานต่าง ๆ การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมักจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นตลอดหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นการรับน้อง การเข้าค่าย หรือแม้กระทั่งงานกีฬาสี การให้นักศึกษาได้ลองเป็นมีส่วนร่วมในการจัดงานเหล่านี้จะช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นด้วย
- การฝึกงาน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญสำหรับนิสิตนักศึกษาที่ต้องการเพิ่มพูนประสบการณ์จริงในการทำงาน เพราะการฝึกงานจะช่วยบูรณาการสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องเรียนกับสภาพแวดล้อมจริงในการทำงาน นอกจากนี้ยังช่วยฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เช่นกัน
- การทัศนศึกษา อาทิ การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ หรือเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และได้ฝึกการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจเจอในระหว่างการทัศนศึกษา
- การฝึกอบรมแบบ On the Job หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง การสอนทักษะหรือความรู้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานโดยใช้สภาพแวดล้อม เครื่องมือ รวมไปถึงเอกสารจริง เพื่อให้พนักงานได้ฝึกทักษะการทำงานเสมือนจริง วิธีการนี้นอกจากจะสามารถทำให้พนักงานเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วแล้วยังเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย
สำรวจข้อดีและข้อเสียของ Learning by Doing
ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกการเรียนรู้แบบ Learning by Doing มาใช้กับผู้เรียน ผู้ปกครองควรจะศึกษาและเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการเรียนรู้รูปแบบนี้ให้ดีก่อน โดยการเรียนรู้แบบ Learning by Doing มีข้อดีและข้อเสียดังต่อไปนี้
ข้อดี
- ช่วยพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์ และฝึกความสามารถในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง
- ผู้เรียนได้ลองสำรวจความชื่นชอบและความสนใจของตนเองผ่านการลงมือทำจริง
- เพิ่มทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงทักษะการสื่อสารและการยอมรับความเห็นต่าง
- ผู้เรียนสามารถนำทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้ในระหว่าง Learning by Doing มาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ข้อเสีย
- ใช้ทุนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องใช้เงินทุนเช่นเดียวกัน
- ใช้เวลาในการเรียนรู้นานกว่าการเรียนรู้แบบเดิม เพราะผู้เรียนจะต้องลงมือทำจนกว่าจะสามารถไตร่ตรองและวิเคราะห์ออกมาได้
- อาศัยตัวแปรที่หลากหลาย เพราะการเรียนรู้รูปแบบนี้จำเป็นต้องใช้ตัวแปรหลายด้านจึงจะประสบความสำเร็จ อาทิ สภาพแวดล้อม ครูผู้สอน ผู้ปกครอง เป็นต้น
การนำหลัก Learning by Doing ไปใช้สำหรับผู้ปกครอง
อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่าหลักการ Learning by Doing คือรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ผู้ปกครองก็สามารถนำการเรียนรู้รูปแบบนี้มาปรับใช้ที่บ้านได้เช่นกัน โดยอาจจะเริ่มจากการให้เด็กทดลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลืองานบ้านง่าย ๆ อย่างการรดน้ำต้นไม้ การล้างจาน การช่วยจัดโต๊ะอาหาร หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ให้ผู้เรียนเริ่มทำขั้นตอนทุกอย่างด้วยตนเอง และวิเคราะห์ถึงปัญหา รวมไปถึงแนวทางแก้ไขโดยที่ผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ เท่านี้ก็สามารถฝึกการเรียนรู้แบบ Learning by Doing ที่บ้านได้ง่าย ๆ แล้ว
สรุป Learning by Doing รูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิต
Learning by Doing คือการรูปแบบของการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยการเรียนรู้รูปแบบนี้แม้ว่าอาจต้องใช้กำลังทรัพท์และเวลาในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาที่นานกว่าการเรียนรู้แบบอื่นๆ แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ เพราะผู้เรียนจะสามารถเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ มากมายจากการเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะด้านอารมณ์เป็นต้น
สำหรับแนวคิดนี้ ในหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาตินิยมนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริง ผู้ปกครองท่านไหนที่สนใจการเรียนรู้แบบ Learning by Doing แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกโรงเรียนนานาชาติ ที่ไหนดี Regent’s International School Bangkok ก็ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติอีกแห่งที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะใช้หลักสูตรแบบอังกฤษและ IB Diploma ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว Regent’s ก็ยังใช้การเรียนรู้แบบ Learning by Doing สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลนานาชาติ ไปจนถึงโรงเรียนนานาชาติมัธยม ดังนั้นจึงมั่นใจได้เลยว่านักเรียนที่จบจาก Regent’s จะเป็นนักเรียนที่เติบโตอย่างมีความสุขและเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพอย่างแน่นอน