เคยได้ยินกันหรือไม่ว่า ‘จินตนาการและการเล่น’ คือบ่อเกิดของการเรียนรู้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กซึ่งจะมีความสนใจใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาจดจ่ออยู่ ดังนั้น การเรียนผ่านการเล่น หรือ ‘Play-Based Learning’ คือรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก
มาศึกษาไปพร้อมกันว่าการเรียนรู้ผ่านการเล่น Play-Based Learning คืออะไร และสามารถส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละด้านได้อย่างไร
สารบัญบทความ
- ความหมายของ Play Based Learning คืออะไร
- Play Based Learning ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 5 ด้าน
- ประเภทของการเล่นในการเรียนรู้
- ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Play Based Learning ในชีวิตจริง
- 4 หลักแนวคิดที่จะได้จาก Play Based Learning
- แนวทางในการส่งเสริม Play Based Learning
- Play Based Learning ต่างจากการเรียนแบบเดิม ๆ อย่างไร
- สรุป Play Based Learning ส่งเสริมและต่อยอดจินตนาการสู่การเรียนรู้
ความหมายของ Play Based Learning คืออะไร
Play Based Learning คือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านจากการละเล่นของเด็ก ให้เด็กได้ริเริ่มสร้างสรรค์ ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กสนใจอย่างอิสระและไม่จำกัดแนวคิด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงจินตนาการของพวกเขาออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งจะมีการสอดแทรกทักษะความรู้ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ การดำรงชีวิต และกระบวนการพัฒนาการของเด็ก
การเรียนปนเล่นนี้ เป็นรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก นิยมใช้เป็นรูปแบบการสอนในโรงเรียนนานาชาติและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะกระตุ้นความสนใจและความสงสัยของเด็ก ในขณะเดียวกัน คุณครูก็จะมีการให้คำแนะนำ ตั้งคำถาม รวมถึงให้ความช่วยเหลือเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ นั้นต่อเนื่องและสามารถต่อยอดต่อไปได้
Play Based Learning ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 5 ด้าน
ทักษะการสร้างสรรค์และจินตนาการ (Creativity and Imagination)
ทักษะการเรียนรู้ 5 ด้านจากการเรียนรู้ผ่านการเล่นของเด็กอันดับแรกคือ ‘ทักษะการสร้างสรรค์และจินตนาการ’ ซึ่งจะมาจากการที่เด็กได้ทดลองเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่ตนเองต้องการโดยไร้ความกดดัน ยกตัวอย่างเช่น การเล่นบทบาทสมมุติเป็นตัวละครต่าง ๆ และนำสิ่งของที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติมาจินตนาการเป็นอุปกรณ์ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือท่อนไม้
การละเล่นเหล่านี้จะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ รวมถึงได้ฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา หรือ Design Thinking อีกด้วย
ทักษะด้านภาษาและการพัฒนาการอ่านเขียน (Language and Literacy Development)
ทักษะที่จะได้จาก Play Based Learning คือ ทักษะด้านภาษาและการพัฒนาการอ่านเขียน ซึ่งจะมาจากการที่เด็กได้พูดคุยสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับของเล่น หรือการสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนระหว่างการเล่นบทบาทสมมุติ
โดยผลที่ได้จากการสื่อสารเหล่านี้ จะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะการพูดคุย โต้แย้ง ตั้งคำถาม พร้อมกับเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ไปในตัว และเพื่อเสริมทักษะด้านภาษา คำศัพท์และการเขียนให้มากขึ้น คุณครูก็จะมีหน้าที่ป้อนข้อมูลเหล่านั้นเข้าไปเพิ่มโดยการแนะนำ ช่วยเหลือด้านคำศัพท์ และกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้
ทักษะและพัฒนาการด้านสังคมและความรู้สึก (Social and Emotional Skills)
ทักษะและพัฒนาการด้านสังคมและความรู้สึก จะเป็นการเรียนรู้วิธีเข้าสังคมจากการเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกัน การปรับตัว การจัดการสถานการณ์และแก้ไขปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าเด็กอาจจะพบเจอกับความขัดแย้งระหว่างการเล่น ดังนั้นคุณครูจึงมีหน้าที่สอนให้เด็กรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นให้ได้ด้วยเหตุผลและสิ่งที่เด็กสามารถเข้าใจได้ง่าย
ทักษะด้านสังคมและความรู้สึกเป็นหนึ่งในทักษะที่ควรพัฒนาในเด็ก เพื่อให้พวกเขาสามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ตนเองประสบพบเจอได้
พัฒนาการทางด้านร่างกาย (Motor Skills)
การเรียนรู้ผ่านการเล่น Play Based Learning จะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร่างกายได้ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นทั่วไป การกระโดด วิ่ง หรือแม้แต่การเล่นต่อบล็อกและการวาดรูประบายสี
พัฒนาการด้านความกล้าหาญ (Courage)
ทักษะที่จะได้เสริมจากการเรียนรู้ Play Based Learning คือ ความกล้าหาญ เพราะเด็ก ๆ จะต้องพบเจอสถานการณ์หลากหลายระหว่างการเล่น ไม่ว่าจะเป็นความกล้าที่จะเริ่มลองเล่น ทดลองอะไรใหม่ ๆ หรือการเล่นที่ต้องมีการสื่อสารและสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจพบเจอความขัดแย้งหรือการโต้เถียงกันระหว่างการเล่นได้
สถานการณ์เหล่านั้นจะฝึกให้เด็กมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยอาจมีการสนับสนุนจากคุณครู แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความกดดัน และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
ประเภทของการเล่นในการเรียนรู้
การเล่นเชิงสร้างสรรค์
การเล่นเชิงสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้แบบ Play Based Learning คือการเล่นจากสิ่งที่เด็กสนใจ หรือเล่นเป็นประจำอยู่แล้ว และนำมาต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้สอดแทรกไปในการเล่นนั้น
การเล่นสมมติ
การเล่นบทบาทสมมุติ จะเป็นการเล่นที่เสริมทักษะการสื่อสารและจินตนาการได้มากที่สุด โดยจะเป็นการจำลองบทบาทต่าง ๆ ที่เด็กมีความสนใจ เช่น เล่นพ่อแม่ลูก เปิดร้านขายอาหาร แพทย์ หรือพยาบาล เป็นต้น
การเล่นที่มีโครงสร้าง
การเล่นที่มีโครงสร้าง อาจจะเริ่มด้วยการทดลองที่มีแบบแผน ให้เด็กได้ลองเล่นและทำความเข้าใจ ทำการทดลองอย่างอิสระด้วยตนเอง และเพิ่มการสนับสนุนให้ความรู้จากคุณครูหากเด็กมีข้อสงสัยในกระบวนการหรือผลลัพธ์
การเล่นแบบอิสระ
การเล่นแบบอิสระ จะเป็นการเล่นแบบทั่วไป เช่น การวิ่ง กระโดด การปีนป่าย การวาดรูประบายสี เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกาย
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Play Based Learning ในชีวิตจริง
- การเล่นเพื่อพัฒนาภาษาและคณิตศาสตร์
อาจมาจากการเล่นที่มีการนำตัวเลขมาใช้ในการเรียนรู้แบบ Play Based Learning คือ การเล่นบทบาทสมมุติ เช่น เล่นทำร้านอาหารซึ่งมีการคิดราคา การทอนเงิน หรือการสื่อสารเพื่อเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ
- กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการเล่นกีฬา
เป็นการเสริมความรู้ในด้านการทำตามกฎกติกา การยอมรับในผลแพ้ชนะ โดยผู้ปกครองอาจมีการถามเด็กว่าได้เรียนรู้อะไรจากการเล่นบ้าง เพื่อทดสอบความรู้และความจำของเด็กได้อีกด้วย
- การเรียนรู้ผ่านการเล่นในสวนหรือสนามเด็กเล่น
ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การเล่นบนเครื่องเล่นที่ต้องมีการเดินข้ามสะพาน หรือการปีนเขาจำลอง
4 แนวคิดที่จะได้จาก Play Based Learning
การมีส่วนร่วม (Engagement)
แนวคิดที่จะได้จาก Play Based Learning คือ การมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยจะต้องมีการกระตุ้นให้เด็กมีความสงสัยและตั้งคำถาม รวมถึงเสริมทักษะในการปรึกษาหารือกันในระหว่างกลุ่มเพื่อน โดยการมีส่วนร่วมจะเป็นการปลูกฝังทักษะทางสังคมได้อีกด้วย
การพัฒนาตนเอง (Self-Development)
การเรียนรู้ผ่านการเล่นจะทำให้เด็กได้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะ หรือความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเด็กจะได้ทำการทดลองและลงมือทำในสิ่งที่สนใจด้วยตนเอง เมื่อเด็กเกิดความสนุกสนานก็จะเกิดการพัฒนาตัวเองในระหว่างการเรียนรู้ได้
การสะท้อนความคิดในการเรียนรู้ (Reflection)
การสะท้อนความคิดในการเรียนรู้จาก Play Based Learning คือการนำสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นมาสรุปหรือทบทวน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ทั้งหมด และฝึกทักษะการสรุปความคิด รวมถึงนำไปพูดคุยแบ่งปันความรู้กับเพื่อน ๆ ได้อีกด้วย
การเริ่มคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovative Skills)
การที่เด็กได้ทำในสิ่งที่ตนเองจดจ่อหรือให้ความสนใจ เมื่อเกิดความสนุกสนานขึ้นจะกระตุ้นให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาในด้านของความคิดสร้างสรรค์ โดยคุณครูหรือผู้ปกครองต้องรับฟังความคิดของเด็กอย่างเปิดกว้าง และนำมาหาข้อสรุปในการต่อยอดจินตนาการของเด็ก
แนวทางในการส่งเสริม Play Based Learning
การออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้
การเรียนการสอนแบบทั่วไป หรือการอ่านตามกระดาษอาจไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ดังนั้นคุณครูควรที่จะทำการออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน โดยอาจจะสร้างสถานการณ์สมมุติ หรือทำเป็นเกมเพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจและอยากเล่น
บทบาทของครูและผู้ปกครองในการสร้างสภาพแวดล้อม
คุณครูและผู้ปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ผ่านการเล่นเช่นกัน ซึ่งการ Play Based Learning คือการสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนในรูปแบบของ การเล่น ให้มีการสอดแทรกทักษะและการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
ดังนั้น คุณครูและผู้ปกครองจะต้องมีบทบาทในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเตรียมอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนจินตนาการของเด็ก หรือการเล่นบทบาทสมมุติไปพร้อมกับเด็ก เป็นต้น
วิธีการประเมินผลการเรียนรู้ผ่านการเล่น
เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ อาจมีการถามทบทวนความรู้กับเด็กว่าในการเล่นแต่ละครั้ง เด็กได้เรียนรู้อะไรมา เพื่อทดสอบการจดจำและประเมินว่าเด็กได้เรียนรู้ทักษะหรือมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วบ้าง
Play Based Learning ต่างจากการเรียนแบบเดิม ๆ อย่างไร
การเรียนแบบเดิม จะเป็นการที่ผู้สอนเน้นให้เด็กเรียนตามสิ่งที่ได้เตรียมมา ซึ่งจะเน้นไปที่การท่องจำและศูนย์กลางอยู่ที่คุณครู ดังนั้นอาจทำให้เด็กและคุณครูมีการสื่อสารกันน้อยลง หรือเด็กไม่รู้สึกสนใจและไม่มีความกระตุ้นให้อยากตอบคำถามและมีส่วนร่วมกับเนื้อหา
แต่การเรียนแบบ Play Based Learning คือการที่คุณครูและเด็กจะมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน โดยเน้นไปที่การให้อิสระแก่เด็กในสิ่งที่เด็กสนใจ ภายใต้การสอดแทรกการเรียนรู้ มีการออกแบบการเรียนในรูปแบบของกิจกรรมเพื่อให้เด็กมีความใคร่รู้และมีความสนุกสนาน โดยคุณครูจะอยู่ในสถานะที่ปรึกษา ช่วยเหลือ แก้ไข และสนับสนุนแนวคิดของเด็ก
สรุป Play Based Learning ส่งเสริมและต่อยอดจินตนาการสู่การเรียนรู้
Play Based Learning คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก เป็นการกระตุ้นให้เด็กสนใจทดลองสิ่งใหม่ ๆ อย่างอิสระ ไม่จำกัดแนวคิดและขอบเขต โดยการเรียนรู้ผ่านการเล่นด้วย Extracurricular Activities ในแขนงต่าง ๆ จะสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านของเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเข้าสังคม ทักษะความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ จนไปถึงพัฒนาทักษะของกล้ามเนื้อและร่างกาย
Regent’s International School Bangkok โรงเรียนอนุบาลนานาชาติหลักสูตรภาษาอังกฤษที่มีชั้นเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล จนถึง Year 1 เน้นออกแบบการพัฒนาการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมกับวัยของเด็ก ฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นหลักการ เสริมสร้างศักยภาพรอบด้านของนักเรียน โดยคุณครูที่ผ่านหลักสูตรการสอนขั้นสูง (Qulified Teacher Status)
เราเชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดี คือการสร้างสภาวะที่เหมาะสมให้กับเด็ก และการให้เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากการเล่นด้วยความสนุกสนานตามวัยของพวกเขา จะสามารถพัฒนาเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ